‘เปิดเทอม ปิดบุหรี่ไฟฟ้า’ นักวิชาการหนุนรัฐเดินหน้ารณรงค์ต่อเนื่องจริงจัง สกัด ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ปกป้องเด็ก-เยาวชน
หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางสุขภาวะต่อการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนผ่านการใช้ชุดสื่อและกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับครู ซึ่งสนับสนุนงบประมาณโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวทีเสวนา “เปิดเทอม ปิดบุหรี่ไฟฟ้า” ในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 ณ ห้องรสสุคนธ์ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพ (สามย่าน) เพื่อรายงานผลการดำเนินโครงการฯ และแลกเปลี่ยนสถานการณ์ความรุนแรงและภัยอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้ารวมถึงแนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวถึงสถานการณ์การขับเคลื่อนงานเชิงรุกเพื่อปราบปรามและป้องกันการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยได้รับความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงานที่บูรณาการการทำงานทั้งด้านการสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตราย การพัฒนาศักยภาพของแกนนำและเครือข่ายเยาวชน การออกกฎหมายและมาตรการควบคุม รวมถึงการเฝ้าระวังอย่างจริงจังและเร่งด่วน จากผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทยในช่วงปี พ.ศ. 2567 – 2568 ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีร่วมกับ สสส. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และภาคีเครือข่าย พบว่า เยาวชนอายุ 15–29 ปี มีแนวโน้มการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.8 ในปี พ.ศ. 2562 เป็นร้อยละ 12.2 ซึ่งสะท้อนถึงความรุนแรงและความเร่งด่วนของปัญหา ทั้งนี้ ยังมีการนำเสนอมาตรการควบคุมจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งห้ามใช้บุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา และกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าควบคุม ห้ามขายให้แก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปี และต้องมีใบอนุญาตในการจำหน่าย ขณะที่สหราชอาณาจักรมีการขยายเขตปลอดบุหรี่ไฟฟ้าครอบคลุมโรงเรียน สนามเด็กเล่น และโรงพยาบาล พร้อมออกกฎหมาย Tobacco and Vapes Bill ที่ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบแก่ผู้ที่เกิดหลังวันที่ 1 มกราคม 2009 เป็นต้นไป สะท้อนถึงแนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันในสถานศึกษาผ่านการสอดแทรกเนื้อหาสร้างความตระหนักรู้ และการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตาม บุหรี่ไฟฟ้ายังคงเป็นภัยเงียบที่แฝงด้วยเป้าหมายในการผลักดันให้ถูกกฎหมาย โดยอาศัยกลไกของกรรมาธิการวิสามัญในรัฐสภาไทย ผ่านระบบตลาดที่เข้าถึงได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว โดยเฉพาะในโลกออนไลน์และแอปพลิเคชันต่าง ๆ อีกทั้งยังมีการใช้กลุ่ม “นักสูบหน้าใหม่” ซึ่งเป็นเด็กและเยาวชน เป็นกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนอย่างแยบยลและน่าวิตกยิ่ง

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ระบุ จากการรณรงค์มาเป็นเวลากว่า 40 ปีพบว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยลดลงเหลือประมาณ 16% จากเดิม 32% และในจำนวนนี้เป็นผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าประมาณ 1.52% โดยส่วนใหญ่เป็นผู้มีอายุระหว่าง 20-24 ปี
การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในหมู่เยาวชน ส่งผลให้ครูส่วนใหญ่รู้สึกกังวล โดยเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลทางลบต่อนักเรียนทั้งชั้นจากความวุ่นวายความแตกแยกที่เกิดขึ้น โดยครึ่งหนึ่งของครูรู้สึกว่ากฎระเบียบเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าของโรงเรียนขาดประสิทธิภาพมีปัญหาในการบังคับใช้ และขาดความร่วมมือจากผู้ปกครอง

ขณะที่นักเรียนจะมีความรู้สึกที่ดีต่อบุหรี่ไฟฟ้าและเห็นว่าเป็นเรื่องปกติและสูบกันแพร่หลาย โดยไม่รู้อันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพ เห็นได้จากผลการวิจัย ของคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร พบว่าเยาวชน 39.3% ไม่เชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และ 36.6% ไม่เชื่อว่าการได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสองมีอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่ 35.8% ไม่เชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำให้ปอดอักเสบรุนแรง และ 34.2% ไม่เชื่อว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียต่อสมองและการเรียนรู้
ทั้งนี้ รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อปัญหาดังกล่าว โดยการรณรงค์อย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อปกป้องเยาวชนจากพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า

เวทีเสวนา “เปิดเทอม ปิดบุหรี่ไฟฟ้า” ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้และขับเคลื่อนการป้องกันการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ โดยเป็นกลไกสำคัญที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมสนับสนุนการออกแบบกิจกรรมเชิงป้องกันในสถานศึกษา และสื่อสารสาธารณะอย่างมีพลังเพื่อให้สังคมตระหนักถึงภัยเงียบที่กำลังคุกคามสุขภาพของเยาวชนไทย ทั้งนี้ เวทีเสวนาดังกล่าวยังมุ่งพัฒนามาตรการเชิงระบบและแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ให้โรงเรียนและชุมชนมีบทบาทสำคัญในการเฝ้าระวังและเสริมสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสม ตลอดจนส่งเสริมบทบาทของครูและผู้ปกครองในฐานะแบบอย่างที่ดีและแนวร่วมสำคัญในการป้องกันปัญหาการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน อีกทั้งข้อมูลในช่วงสี่เดือนที่ผ่านมาได้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของภาครัฐในการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มข้น จนสามารถลดตลาดลงได้ถึง 80% ในทางกลับกัน สื่อมวลชนยังคงรายงานถึงการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าในหมู่นักเรียนอย่างใกล้ชิด ซึ่งสะท้อนความย้อนแย้งที่จำเป็นต้องเตรียมรับมืออย่างเป็นระบบในช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ เวทีเสวนานี้จึงไม่เพียงแต่เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงนโยบาย หากยังเป็นต้นแบบของการจัดการปัญหาที่ขับเคลื่อนด้วยความจริงจังจากกลไกรัฐ โดยยึด “ปัญหา” เป็นจุดตั้งต้นของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้กับการแก้ไขปัญหายาเสพติดประเภทอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
