News Release

สสส.ดึง อปท.ร่วมพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือสร้างสังคมปลอดบุหรี่ ตั้งเป้าลดจำนวนผู้สูบบุหรี่  9 ล้านคนในปี 2568

นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 ระบุ หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของ สสส.คือการลดอัตราการบริโภคยาสูบ โดยป้องกันผู้บริโภคยาสูบหน้าใหม่ควบคู่ไปกับการลดผู้บริโภคยาสูบรายเดิม โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการไม่สูบบุหรี่และพัฒนาศักยภาพกลไกการควบคุมยาสูบ เพื่อลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ไม่เกิน 15% หรือไม่เกิน 9 ล้านคนในปี 2568

ปัจจุบันทั่วโลกตระหนักถึงพิษภัยจากบุหรี่ว่าเป็นสารก่อมะเร็ง บริษัทผู้ผลิตบุหรี่จึงต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่คือบุหรี่ไฟฟ้าโดยอ้างว่ามีความปลอดภัยมากกว่าบุหรี่มวนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างกรณีตัวอย่างของสหรัฐและอังกฤษอนุญาตให้ซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าได้โดยถูกกฎหมายแต่ผ่านมาไม่ถึง 10 ปีพบว่ามีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีติดบุหรี่ไฟฟ้า แสดงให้เห็นว่าแม้ประเทศเหล่านี้จะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดแต่ก็ไม่สามารถควบคุมเยาวชนไม่ให้เสพติดบุหรี่ได้   ในส่วนของประเทศไทย การอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมายหรือจะไม่อนุญาต อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แต่ปัจจุบันพบว่าเด็กนักเรียนชั้นประถมต้นและมัธยมปลายติดบุหรี่เฉลี่ยกว่า 10% และส่วนใหญ่เป็นบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งการที่เยาวชนเสพติดบุหรี่ตั้งแต่อายุน้อยๆจะมีโอกาสสูงที่จะพัฒนาไปสู่สารเสพติดที่มีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งนำไปสู่การเสพติดพนัน

การควบคุมการบริโภคบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในระดับชุมชน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนและสร้างสังคมปลอดบุหรี่ โดยสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานสาธารณสุขและเครือข่ายภาคประชาสังคมในระดับพื้นที่และระดับประเทศเพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติที่ดี รวมถึงการพัฒนากลไกการทำงานร่วมกันที่มีประสิทธิภาพ

การเรียนรู้ผ่านกระบวนการ Benchmarking เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศจากหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้ อปท.อื่นๆ มองเห็นช่องว่างในการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายแพทย์ยงยุทธ์ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ ระบุ แนวคิดและบทบาทของ Benchmarking ในการพัฒนาแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) จำเป็นต้องมีระบบสนับสนุน และระบบหลัก

สำหรับระบบสนับสนุน คือ 1. การสร้างนโยบายชุมชนปลอดบุหรี่ โดยการกำหนดนโยบายและธรรมนูญสุขภาพควบคุมยาสูบ การทำแผนที่ครอบคลุมทั้งการป้องกันช่วยเหลือ และคุ้มครอง การกำหนดพื้นที่ปลอดบุหรี่ที่ครอบคลุม การจัดตั้งกลไกคณะกรรมการ และอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง  2.การสร้างความเข้มแข็งในชุมชน โดยมีความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่ระบุบทบาทของแต่ละฝ่าย การจัดสรรงบประมาณที่มีแหล่งงบประมาณจากในและนอกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการพัฒนาบุคลากรให้ครอบคลุมการดำเนินงานด้านต่างๆ  และ 3.ระบบสารสนเทศ โดยมีฐานข้อมูลการบริหารจัดการ ฐานข้อมูลการดำเนินงาน และฐานข้อมูลการสูบบุหรี่และผลกระทบ

ส่วนระบบหลัก คือ 1. การสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ โดยการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง การติดตั้งป้ายสัญลักษณ์ และการปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ทั้งบ้าน ชุมชน และโรงเรียน 2. การสร้างทักษะส่วนบุคคล โดยการประชาสัมพันธ์ และการมีบุคคลต้นแบบ รวมทั้งจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพของกลุ่มเป้าหมาย และ 3. การสร้างระบบบริการสุขภาพที่เอื้อต่อการไม่สูบบุหรี่ โดยมีการบริการช่วยเลิกบุหรี่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและการบริการในชุมชนเพื่อการดูแลอย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์ชัย กฤตยาภิชาตกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมยาสูบ ระบุ อปท.เปรียบเสมือน รัฐบาลท้องถิ่นมีหน้าที่รับผิดชอบทุกเรื่องของท้องถิ่น และสิ่งสำคัญสำหรับประชาชนทุกคนคือเรื่องสุขภาพ อปม.จึงมีหน้าที่สำคัญคือการดูแลคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชน

ที่ผ่านมา สหประชาชาติ หรือ UN มีมติให้ทุกประเทศควบคุมอัตราการเสียชีวิตของประชนจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCD ให้ลดลง 25% ภายในปี 2568 โดยโรคจาก NCD เช่น ปอดอักเสบ มะเร็ง ซึ่งบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของ NCD และการลดอัตราการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่จะช่วยลดอัตราการตายจาก NCD ของคนทั้งประเทศได้  ปัจจุบัน สาเหตุการตายของประชากรไทย 76% คือ NCD เช่น  เบาหวาน ความดัน เส้นเลือดหัวใจ เส้นสมอง รวมมากกว่า 7 หมื่นคน/ปี NCD ที่พบมากสุดคือ โรคเส้นเลือด หัวใจ และสมอง 29% รองลงมา 17% คือมะเร็ง

อปท. จึงต้องทำหน้าที่ในการดูแลคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการลดอัตราการเกิด NCD ในพื้นที่ให้ได้ผล ซึ่งการควบคุม NCD ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะสังคมไทยกำลังเข้าสู่ความเป็นสังคมผู้สูงอายุ มีเด็กเกิดใหม่และวัยทำงานน้อยลง ปัญหาที่จะตามมาคือใครจะดูแลผู้สูงอายุที่มี NCD  อีกทั้งกระบวนการทำให้ อปท. เมือง ชุมชน ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างยั่งยืน สามารถทำได้โดยผู้มีอำนาจในชุมชน ทั้งตัวแทนภาครัฐและผู้นำชุมชน ต้องหารือเรื่องการป้องกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคซึ่งมีบุหรี่เป็นสาเหตุหลัก และกำหนดนโยบายและการมีส่วนร่วมทำโครงการเมือง/ชุมชนปลอดบุหรี่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *