มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจัดเสวนาวิชาการ “พลวัตเศรษฐกิจดิจิทัล: ความเสี่ยง และโอกาสธุรกิจ ตลาดแรงงาน ความสามารถในการแข่งขันและความเป็นธรรม”
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุน การค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) ได้กล่าวในงานเสวนาทางวิชาการ ว่า “จากข้อมูลผลสำรวจความคิดเห็นของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) และ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กส่วนใหญ่คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 จะแย่ลง โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดย่อย มีการเตรียมการปรับตัวต่อเศรษฐกิจดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในระดับต่ำ เนื่องจากไม่ตระหนักถึงความสำคัญว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน ไม่มีเงินทุนสำหรับลงทุน บางส่วนขาดสภาพคล่องทางการเงิน ปัจจัยที่ผู้ประกอบการคิดว่ามีผลกระทบต่อการลงทุนในปี 2568 มากเป็น 3 อันดับแรก คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย และเสถียรภาพทางการเมือง


“ในส่วนของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจทางคณะเศรษฐศาสตร์ และ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยมองไปในทิศทางเดียวกันว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ 2.5-3% ซึ่งเป็นระดับการเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพ ไม่ได้เป็นสภาวะที่จะทำให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนมากนัก ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยและต้นทุนทางการเงินยังสูงสร้างแรงกดดันต่อภาคธุรกิจที่มีโครงสร้างทางการเงินอ่อนแอ มีสัดส่วนหนี้สินสูงเมื่อเทียบกับทุน อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลต่อปัจจัยเหล่านี้มีทิศทางดีขึ้นในกิจการที่มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน เช่น ภาคการท่องเที่ยว ภาคเกษตรกรรมและอาหาร เป็นต้น
“อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลของโลกนั้นเติบโตประมาณ 3 เท่าของอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจากการประเมินของ Digital Cooperation Organization การคาดการณ์ล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ 3.3% จึงประมาณการเบื้องต้นได้ว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของโลกจะขยายตัวในระดับเกือบ 10% และ สัดส่วนของเศรษฐกิจดิจิทัลเทียบกับจีดีพีโลกเพิ่มขึ้นตามลำดับ ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 21% ของจีดีพีโลก การไม่เตรียมพร้อมของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ภาครัฐการ ภาควิชาการและภาคแรงงาน จะทำให้ประเทศไทยโดยรวมสูญเสียโอกาสและตกขบวนของการพัฒนาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากติดกับดักรายได้ระดับปานกลางมาหลายทศวรรษ แต่สิ่งที่น่าห่วงไม่ใช่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่หรือบรรษัทข้ามชาติของไทย ที่น่าห่วง คือSMEs ภาควิชาการและภาคแรงงาน ที่ทำให้เกิดปัญหาสะสมทั้งในมิติความสามารถในการแข่งขันและความเป็นธรรม ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยีโดยเฉพาะเอไอจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศรวมทั้งไทย อย่างไรก็ตาม เกิดการขึ้นของเอไอราคาถูกจากจีนช่วยลดปัญหาการผูกขาดในธุรกิจอุตสาหกรรมเอไอได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่หมดไป


“พลวัตเศรษฐกิจดิจิทัลเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2568-2570 จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดดมากกว่าเดิมภายใต้การแข่งขันทางเทคโนโลยีของกลุ่ม G-8 โดยเฉพาะระหว่างสองมหาอำนาจสหรัฐอเมริกาและจีน ห่วงโซ่อุปทาน ภาคการผลิตและการบริการเทคโนโลยีชั้นสูงจะมีการแยกส่วนมากขึ้นจากการกีดกันและการแข่งขันกัน ทั้งที่การบูรณาการจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เป็นผลดีต่อคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติโดยรวมมากกว่า อย่างไรก็ตาม การแข่งขันอย่างรุนแรงสามารถแรงกดดันให้สองมหาอำนาจต้องสร้างระบบนิเวศทางด้านเทคโนโลยีชั้นสูงที่พึ่งพาตัวเองมากขึ้น พึ่งพาระหว่างกันน้อยลง เทคโนโลยีสูงถูกใช้เพื่อกิจการทางด้านความมั่นคงความปลอดภัย การใช้เพื่อการสอดแนม การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นจากเทคโนโลยี มีการลงทุนเทคโนโลยีเพื่อกิจการป้องกันประเทศและทางการทหารเพิ่มขึ้น อันไม่เป็นผลดีต่อสันติภาพของโลกและคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชั้นสูงควรถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อประโยชน์ต่อมนุษยชาติ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติและเพิ่มผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจ หากองค์กร ประเทศ หรือ ผู้คน ต้องใช้เงินหรืองบจำนวนมากเพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงทางไซเบอร์ การเจาะระบบความมั่นคงทางไซเบอร์เพื่อวัตถุประสงค์อันเลวร้าย เพื่อทำลายล้าง ไม่ใช่เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดี ย่อมทำให้ระบบความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ถูกรวมศูนย์และสร้างอำนาจผูกขาดให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทคไม่กี่บริษัท ย่อมทำให้ความเหลื่อมล้ำในระบบทุนนิยมโลกรุนแรงมากยิ่งกว่าเดิม การพัฒนาและสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเข้าถึงเทคโนโลยีต้องกระจายศูนย์มากกว่าเดิม และ ต้องลดอำนาจผูกขาดทางเทคโนโลยีของบริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทค Magnificent 7 (Apple Inc. – AAPL, Microsoft Corp.- MSFT, Amazon Inc. -AMZN, Alphabet – Googl, Meta Platform – META, Nvidia Corp – NVDA) แม้นจะสัญญาณของฟองสบู่ของราคาหุ้นของ 7 บริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทคเหล่านี้เกิดขึ้น แต่ในแง่โครงสร้างของตลาดของเศรษฐกิจดิจิทัลและสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง 7 บริษัทยังคงมีอำนาจทางนวัตกรรมและการตลาดในการขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดและระบบเศรษฐกิจ และ ผลประกอบการทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทเหล่านี้ยังอยู่ในระดับดีมาก และยังคงมีการลงทุนจำนวนมหาศาลทางด้านนวัตกรรมและการสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ฉะนั้น อำนาจผูกขาดหรือกึ่งผูกขาดจะอยู่ไปอีกไม่ต่ำกว่าสองทศวรรษ ภายใต้การกีดกันการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงของสหรัฐอเมริกาต่อบริษัทไฮเทคของจีนหรือชาติอื่นๆ การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ (Creative Destruction) จะเกิดขึ้นในอัตราเร่งมากยิ่งกว่าเดิม”
รศ. ดร. อนุสรณ์ เปิดเผยต่อว่า ในปี 2568 มีพลวัตเทคโนโลยีหลายอย่างต้องติดตามเป็นพิเศษและจะมีบทบาทต่อเศรษฐกิจและสังคมต่อไป ได้แก่
Agentic AI (Multimodal AI)
Synthetic Media
Extended Reality
Neuromorphic Computing
Nuclear Power for AI Infrastructure
Micro LLMs (Generative AI for SMEs)
Post-Quantum Cryptography
Hybrid Computer Systems
Spatial Computing
Ambient Invisible Intelligence
“การเปลี่ยนแปลงและก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการเงิน เทคโนโลยียานยนต์ เทคโนโลยีเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีก เทคโนโลยีเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคม ในไทย จะเป็นเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการและตลาดแรงงานมากที่สุด ผู้ประกอบการที่ปรับตัวได้ต่อการเปลี่ยนแปลง และ ลงทุนได้อย่างเหมาะสม จะมีผลิตภาพและผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะยาวโดยอาศัยแรงงานมนุษย์ โดยผู้ประกอบการมากกว่า 70% ยังไม่มีแผนการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ในปี 2568 แต่ผู้ประกอบการบางส่วนมีแนวโน้มลงทุนในอนาคต โดยเฉพาะภาคการค้าระหว่างประเทศ และการท่องเที่ยว เหตุผลสำคัญที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ตัดสินใจไม่ลงทุนเทคโนโลยีใหม่ๆ ในปี 2568 ได้แก่ ไม่มีแผนเปลี่ยนแปลงการใช้เทคโนโลยี ส่วนผู้ประกอบการขนาดย่อยให้เหตุผลว่าขาดเงินทุนและไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจดิจิทัลในปี 2568 ยังเป็นเรื่องเดิมๆ บางเรื่องอาจจะเพิ่มมากขึ้นหากประเทศไหนไม่เตรียมการหรือละเลย เช่น Data Privacy ความเสี่ยงจากการถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวเพิ่มขึ้น Ethical Issues ความเสี่ยงทางด้านจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ เรื่องนี้อาจปรับเพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ จากการผ่อนคลายกฎระเบียบของรัฐบาลทรัมป์ AI Governance การกำกับควบคุม ระบบกฎหมายที่เหมาะสมมีความสำคัญเพิ่มขึ้น Cybersecurity ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จะเป็นประเด็นอ่อนไหวและถูกนำมาใช้ต่อสู้กันในความขัดแย้งทางการเมือง เศรษฐกิจและการทหารมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีหน่วยงานกลางที่มี Good Governance ในการกำกับ”